01 May 2014
Review

ลำโพงแอ็คทีฟระดับโปรฯ กับความสามารถด้านเสียงที่ต้องเหลียวมอง !!! รีวิว Elac AM150 Studio Active Speakers


  • ชานม

Setup – การติดตั้ง

การเชื่อมต่อใช้งานลำโพงแอ็คทีฟนั้น มิได้แปลกประหลาดแตกต่างจากการใช้งานชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นตามปกติแต่อย่างใด หากว่ากันในแง่ของขั้นตอน ความเรียบง่าย ลำโพงแอ็คทีฟสามารถให้จุดนี้ได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะจำนวนอุปกรณ์น้อยกว่า ขั้นตอนการเชื่อมต่อก็ย่อมจะน้อยกว่า

อุปกรณ์เริ่มต้นแค่มีแหล่งโปรแกรม กับสายสัญญาณ และสายไฟ เชื่อมต่อยังลำโพง AM 150 แต่ละข้าง ก็ใช้งานได้เลย
ในเบื้องต้นสามารถใช้สายสัญญาณ และสายไฟที่แถมมาในกล่องได้ แต่แนะนำว่าหากต้องการให้ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดคุณภาพเสียงเต็มศักยภาพ ควรจัดหาสายสัญญาณและสายไฟที่มีคุณภาพดี

อันที่จริง AM 150 มิได้จำกัดว่าจะต้องใช้งานแต่เฉพาะซิสเต็มฟังเพลง 2 แชนเนลเท่านั้นนะครับ หากจะนำไปใช้งานแบบมัลติแชนเนลก็ได้ (ทั้งเพลงและภาพยนตร์) เพียงแค่เพิ่มจำนวน AM 150 ตามแชนเนลที่ต้องการ แล้วเชื่อมต่อกับ Multi-channel Processor/Preamp หรือ BD/HD Player ที่มี Multi-channel Output (พร้อมดิจิทัลวอลลุ่ม) ก็ได้ แล้วลากสายสัญญาณไปยังลำโพงแต่ละแชนเนล ในสตูดิโอหลายแห่งที่ผลิตคอนเทนต์ระบบเสียงรอบทิศทางก็ใช้ลำโพงแอ็คทีฟแบบนี้นี่แหละ

อย่างไรก็ดี รีวิวนี้จะอ้างอิงใช้งานเพียง 2 แชนเนล เท่านั้น เนื่องจากลำโพงที่ส่งมาทดสอบมีจำนวนเพียงเท่านี้ครับ

เมื่อเชื่อมต่อสายสัญญาณออดิโอจากแหล่งโปรแกรมตรงเข้าอินพุตรับสัญญาณด้านหลัง AM 150 แล้ว การใช้งานจะมีจุดที่ต้องดำเนินการก่อนนิดหนึ่ง คือ เรื่องของการปรับตั้งระดับเสียง (Volume)

ลำโพงแอ็คทีฟกับปุ่มปรับระดับเสียงถือเป็นของคู่กัน เพื่อใช้ควบคุมระดับการถ่ายทอดเสียงของแหล่งโปรแกรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน กล่าวคือ ควบคุมให้ระดับเสียงไม่ดังมากเกินจนรบกวนโสตประสาท หรือเบาค่อยเสียจนจับรายละเอียดสำคัญมิได้ หรือโดนเสียงรบกวน (Background Noise) ที่ดังกว่ากลบไปเสียหมด ไปจนถึงการชดเชยระดับเสียงจากมาตรฐานการบันทึกเสียงที่แตกต่างกันในแต่ละอัลบั้ม

กรณีของ AM 150 สามารถดำเนินการผ่านการปรับตั้ง Volume ที่ปุ่มปรับหมุนด้านหลังลำโพง โดยต้องดำเนินการกับลำโพงทั้ง 2 ข้าง ซึ่งควรปรับตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดียวกัน เพื่อให้เสียงที่ดังออกมาจากลำโพงทั้ง 2 ข้าง เท่าเทียมกัน ยังผลให้มิติเวทีเสียงบาลานซ์อย่างเหมาะสม

แต่ถ้าหากต้องการปรับชดเชยบาลานซ์เสียงของลำโพง เช่น เมื่อต้องการชดเชยแก้ไขลักษณะสภาพพื้นที่ตำแหน่งตั้งวาง อันอาจทำให้ลำโพงทั้ง 2 ข้าง เสียงดังไม่เท่ากันก็สามารถทำได้ เพราะพื้นฐานที่สามารถปรับระดับ Volume ของลำโพง AM 150 แต่ละข้างแยกกันได้อย่างอิสระนั่นเอง แต่การชดเชยบาลานซ์ระดับเสียงนี้ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการอ้างอิงระดับเสียงลำโพงแต่ละข้าง อย่าง Sound Level Meter เพื่อความเที่ยงตรง

อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเวลาใช้งานจริง การจะปรับวอลลุ่มลด-เพิ่มที่ตัวลำโพง AM 150 บ่อยๆ คงจะไม่สะดวกนัก เพราะตำแหน่งจัดวางปุ่มปรับวอลลุ่มอยู่ทางด้านหลัง (ต้องชะโงกไปปรับ) อีกทั้งต้องทำการปรับลำโพงข้างซ้ายที ข้างขวาอีกที เพื่อบาลานซ์เสียงให้เท่ากันพอดีทุกครั้ง ดูจะยุ่งยากไปหน่อย ในจุดนี้หากมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทน เช่น ปรีคอนโทรล หรือเอาสะดวกก็ปรับระดับเสียงจากแหล่งโปรแกรมโดยตรง (ที่มีดิจิทัลวอลลุ่มในตัว) ซึ่งจะให้ความสะดวกรวดเร็วมากกว่า และอุปกรณ์หลายๆ ชนิดในปัจจุบันก็รองรับในจุดนี้ อย่างการปรับระดับวอลลุ่มที่ External DAC, คอมพิวเตอร์, Smart Devices, HD Media Player หรือ BD Player บางรุ่น แม้แต่ทีวี ดังนี้ Volume ที่ AM 150 ก็จะทำหน้าที่ Gain & Balance Control ที่ทำการปรับตั้งครั้งเดียวก็พอ

จุดเด่นของลำโพงแอ็คทีฟระดับโปรฯ ไม่กล่าวถึงมิได้ เพราะเป็นข้อได้เปรียบที่หาไม่ได้ในซิสเต็มเครื่องเสียงแยกชิ้นทั่วไปคือ Sound Adaptation Switch Modes หรือ แผงควบคุมที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับจูนเสียงลำโพงให้สามารถถ่ายทอดเสียงได้อย่างเที่ยงตรง

ถามว่าสำคัญอย่างไร? ก็เป็นอันทราบดีว่าปัจจัยแวดล้อมส่งผลกระทบกับดุลเสียงของลำโพง ไม่ว่าลำโพงจะออกแบบมาดีเพียงใดก็ได้รับผลกระทบนี้ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย และการปรับจูนด้วยการปรับแก้ทางกายภาพอย่างเดียวอาจไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ การที่ผู้ผลิตเพิ่มเติมคุณสมบัติในจุดนี้มาด้วย ย่อมจะเพิ่มคุณค่าให้กับลำโพงแอ็คทีฟมอนิเตอร์ให้สูงยิ่งขึ้น อย่าเพิ่งมองว่าคุณสมบัตินี้จะเป็นตัวบิดเบือนความบริสุทธิ์ของเสียงลง เพราะอันที่จริงปัจจัยแวดล้อมอย่างสภาพแวดล้อม และข้อจำกัดการติดตั้ง สร้างการบิดเบือนต่อเสียงมากกว่าเสียอีก

Sound Adaptation Switch Modes แบ่งเป็น Acoustic Space, HF Trim และ LF Cutoff

ตามปกติเมื่อนำลำโพงมาใช้งานในห้อง (Listening Room) จะให้ปริมาณย่านความถี่ต่ำที่เพิ่มขึ้นเมือเทียบกับผลลัพธ์ในห้องไร้เสียงสะท้อน (Anechoic) อันเป็นผลจากการส่งเสริมของสภาพอะคูสติก ขณะเดียวกันก็จะส่งผลในแง่การบิดเบือนดุลเสียงย่านความถี่ต่ำของลำโพงได้มากเช่นเดียวกัน โดยผลกระทบจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตำแหน่งลำโพงใกล้ชิดผนังมากขึ้น ทางผู้ผลิตลำโพงมอนิเตอร์ก็ทราบในจุดนี้ดี Acoustic Space ของ Elac AM 150 จึงออกแบบมาเพื่อการณ์นี้ โดยจะใช้ลดทอนผลกระทบย่านความถี่ต่ำที่เกิดจากสภาพอะคูสติกภายในห้อง ปรับได้ 2 ระดับ คือ -2dB และ -4dB

HF Trim หรือ High Frequency Trim ก็ตามชื่อ เป็นการกำหนดชดเชยระดับการตอบสนองย่านความถี่สูง โดยให้ระดับเพิ่มหรือลดทอนที่ +/-2dB ซึ่งด้วยมุมกระจายเสียงของลำโพง โดยเฉพาะย่านความถี่สูงช่วงปลาย จะมีมุมที่แคบมาก การตั้งวางลำโพงบางลักษณะอาจส่งผลให้ดุลเสียงความถี่ย่านสูงลดทอนลง หากเป็นเช่นนี้ สามารถให้น้ำหนักชดเชยขึ้นได้

LF Cutoff มีหน้าที่ในการจำกัดย่านความถี่ต่ำของลำโพง โดยจะให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อมีการผนวกเพิ่มเติมซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบ ซึ่งสามารถกำหนดให้สัมพันธ์กับ HF Cutoff (Low-pass Crossover) ของซับวูฟเฟอร์ได้สะดวกและง่ายกว่า กำหนดได้ 2 ค่า คือ 80Hz และ 100Hz (กรณีที่เชื่อมต่อใช้งานกับซิสเต็มที่มีระบบ Bass Management นั้น LF Cutoff ที่ลำโพง และ HF Cutoff ที่ซับวูฟเฟอร์ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากระบบฯ สามารถดำเนินการในจุดนี้ได้ครอบคลุม)

หมายเหตุ:
– จะเห็นว่า Sound Adaptation Switch Mode มิได้ควบรวมไปถึงย่านเสียงกลาง แม้อันที่จริงก็เป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน ทว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับย่านความถี่สูง และต่ำ แต่ที่สำคัญ คือ การปรับชดเชยย่านเสียงกลาง (ที่ไม่เหมาะสม) จะส่งผลทางลบมากกว่าบวก เพราะเสียงกลางเป็นย่านที่สูญเสียความเป็นธรรมชาติได้ง่าย

– ทั้งนี้การปรับจูนเสียงของลำโพงด้วย Sound Adaptation Switch Modes มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทางสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดทางการติดตั้ง ที่กระทบกับดุลเสียงของลำโพง เพื่อพยายามคงผลการตอบสนองความถี่ที่เที่ยงตรง (เพื่อผลความถูกต้อง) เท่านั้น หาได้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ปรับดุลเสียงของลำโพงตามอารมณ์ ตามใจฉัน ตามความชอบส่วนบุคคลแต่อย่างใด (หาใช่เพื่อผลด้านความถูกใจ)

Sound – เสียง

ความคาดหวังจากลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ คือ ผลการตอบสนองความถี่ที่เที่ยงตรง เพื่อประโยชน์ด้านการใช้อ้างอิงความถูกต้องของเสียงในขั้นตอนการบันทึกเสียง การจะพิสูจน์ในจุดนี้ก็คงต้องดูที่ผลการตอบสนองความถี่ของลำโพงว่าให้ความเที่ยงตรงได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่ง AM 150 ให้ผลออกมาดังนี้

Elac AM 150 Frequency Response (On-axis)Nearfield Measurement with sound adaptation switch modes* (1/12 Octave Smoothing)
(คลิกที่รูป เพื่อขยาย)

หมายเหตุ: * ผลการตอบสนองความถี่ และผลลัพธ์จากการให้น้ำหนัก Sound Adaptation Switch Modes (Acoustic Space/HF Trim) ข้างต้น อ้างอิงในสถานะที่พยายามให้มีปัจจัยแวดล้อมบิดเบือนเสียงของลำโพงน้อยที่สุด เพื่อประเมินศัยกภาพที่แท้จริงของลำโพง จากจุดนี้การใช้งานที่ติดตั้งในสภาพแวดล้อมต่างออกไป ผลลัพธ์อาจเปลี่ยนไปได้ การประเมินเพื่อใช้งาน Sound Adaptation Switch Modes ร่วมกับ AM150 จึงต้องดำเนินการภายใต้สภาพใช้งานจริงตามลักษณะสถานที่และข้อจำกัดในการติดตั้ง

“ลำโพงเสียงแฟล็ต ฟังเพลงไม่ไพเราะ” คำกล่าวนี้จริงหรือไม่? คงปฏิเสธมิได้ว่าการประเมินคุณภาพเสียงนั้น มีประเด็นเรื่องของ รสนิยม ความชอบ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก และรสนิยมความชอบนี้เอง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินอ้างอิงได้ มันจึงออกจะสวนทางกับแนวทางของลำโพง “เสียงแฟล็ต” อยู่พอสมควร ดังนั้นการจะชี้ชัดคำกล่าวข้างต้นว่าถูกหรือผิดจึงเป็นเรื่องที่คลุมเครือ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่เน้น “ความถูกต้อง” มากกว่าถูกใจ ก็ย่อมจะมองว่าผิด แต่ถ้าท่านเน้น “ถูกใจ” มากกว่าถูกต้อง มันก็ถูก จุดนี้ผมคงไม่มีอำนาจอะไรไปตัดสิน อยู่ที่ท่านจะพิจารณากันเอาเอง

ผลการใช้งาน AM 150 พบว่า ที่สถานะแฟล็ต (ตรงนี้หมายถึงสถานะของลำโพง AM 150 ที่ไม่มีการปรับชดเชยใดๆ ที่ Sound Adaptation Switch Modes: Acoustic Space = 0dB, HF Trim = 0dB, LF Cutoff = Flat) ยังคงเป็นลำโพงที่ถ่ายทอดเสียงเอาใจหูอยู่บ้าง คือ ไม่ถึงกับราบเรียบไร้สีสันไปทั้งหมด การให้น้ำหนักย่านความถี่ต่ำจะเน้นให้มีปริมาณเพื่อให้สัมผัสรับรู้ถึงมวลเสียงที่หนาแน่นขึ้นบ้าง ซึ่งบ่อยครั้งก็ช่วยให้การรับฟังดนตรีบางลักษณะ หรือแม้แต่การรับชมภาพยนตร์ (2.0) สนุกขึ้น ขณะที่ย่านความถี่สูงหากทำการโท-อินลำโพงอย่างเหมาะสม จะให้รายละเอียดเสียงได้เป็นอย่างดี ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงจากทวีตเตอร์ซอฟต์โดมจะหดห้วนแต่อย่างใด ดุลเสียงสะอาดแต่บาลานซ์ความอิ่มอย่างพอเหมาะในย่านเสียงกลาง แนวทางทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับการรับรู้ของหูมนุษย์ ที่ความไวในย่านความถี่ต่ำและสูงจะด้อยกว่าย่านเสียงกลางอยู่ระดับหนึ่ง (อ้างอิง Equal-loudness contour)

อย่างไรก็ดีในหลายๆ สภาพแวดล้อมที่ทดลองใช้งานกับลำโพงคู่นี้ พบว่า กำหนด Acoustic Space ที่ -2 และ HF Trim ที่ 0 จะให้ดุลเสียงโดยรวมที่ดีกว่า โดยจะส่งผลถึงการจับรายละเอียดย่านเสียงกลางที่ดีขึ้น แต่แน่นอนว่าน้ำหนักเสียงย่านความถี่ต่ำลึกก็จะลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเสริมซับวูฟเฟอร์เข้ามาเพื่อเติมเต็มให้ความต่อเนื่องในส่วนที่ขาดไป ในจุดนี้ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ระดับ Volume ใช้งานขณะทดสอบ ที่ลำโพงตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 10 – 12 น. ก็เหลือๆ แล้วครับ ซึ่งการปรับเพิ่ม-ลด ระดับเสียง หลักๆ ดำเนินการที่ปรีคอนโทรล หรือเพลเยอร์/แหล่งโปรแกรม (ที่มี Digital Volume) จะสะดวกกว่า ศักยภาพของภาคขยายที่ติดตั้งมานั้นสามารถส่งเสริมประสิทธิภาพการถ่ายทอดเสียงของลำโพงได้ดี เสียงกระชับ และหนักแน่นเกินตัว หากเป็นลำโพงพาสซีฟอื่น คงต้องหาแอมป์ที่กำลังถึงๆ หน่อยมาแม็ตชิ่งจึงจะได้แบบนี้ (แน่นอนงบรวมอาจจะเกิน 2 หมื่น) และด้วยความที่ลำโพงสามารถถ่ายทอดเสียงได้เที่ยงตรง การประเมินอ้างอิงเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เชื่อมต่อใดๆ จึงดูจะจับความแตกต่างได้ไม่ยากเย็น ใช้เป็นซิสเต็มอ้างอิงราคาประหยัดได้ดีเลยทีเดียว ผลเกี่ยวเนื่องในประเด็นนี้ แนะนำให้ความสำคัญกับการอัพเกรดสายไฟเอซีด้วย เพื่อค้นพบศักยภาพที่แท้จริงจากลำโพงแอ็คทีฟคู่นี้ครับ (ผลที่ได้มากกว่าที่คิด)

แน่นอนว่าลำโพงระดับนี้ คงมิได้เพอร์เฟ็กต์ไปเสียหมด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับลำโพงรุ่นสูงของ Elac เอง โดยในส่วนย่านการตอบสนองความถี่นั้น พบว่า Elac (ลำโพงบ้าน) รุ่นสูงๆ ที่ติดตั้งไดรเวอร์ JET จะให้เสียงที่กังวาน ทอดยาวกว่า มิติเสียงกระจ่างแยกลำดับชั้นและชิ้นดนตรีได้ดีกว่า และไดรเวอร์ Al Sandwich ก็ให้ความฉับไวและให้รายละเอียดในระดับ Micro Dynamic ได้ดีกว่า แต่นั่นหมายถึงต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นไปไม่น้อยกว่า 2 เท่า (เฉพาะลำโพงไม่รวมแอมป์) หากอ้างอิงในระดับราคานี้ ไม่มีข้อติติง

หากนำ Elac AM 150 ไปแม็ตช์กับเครื่องเล่นดีๆ สักเครื่อง ก็จะกลายเป็นซิสเต็มเครื่องเสียงง่ายๆ
ราคาไม่สูง แต่ศักยภาพในแง่การถ่ายทอดเสียงดนตรีล้นเหลือทีเดียวแหละ

ด้วยข้อจำกัดของ DAC ภายในตัวลำโพง AM 150 แนะนำว่าเน้นการเชื่อมต่อผ่านทางอะนาล็อกอินพุตจะดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้งานกับแหล่งโปรแกรมคุณภาพสูง (หากเป็นได้เลือก Balanced Input) ในส่วนของ Digital Input อาจเป็นอินพุตที่สอง กรณีที่เชื่อมต่อแหล่งโปรแกรมมากกว่า 1 ชนิด มายังลำโพง

Conclusion – สรุป

ไม่ว่าท่านจะชอบเสียงที่ “ถูกใจ” หรือเสียงที่ “ถูกต้อง” AM 150 มีศักยภาพตอบสนองได้ทั้งคู่ ขึ้นกับการปรับจูนว่าจะให้ทิศทางของเสียงลำโพงไปในแนวไหน เรียกว่าซื้อหนึ่งเหมือนได้สอง มันจึงเป็นลำโพงที่ ใช้เป็นการเป็นงานได้ หรือจะใช้งานแบบผ่อนคลาย สบายอารมณ์ก็ได้เช่นเดียวกัน กับงบประมาณ 2 หมื่น จะหาซิสเต็มที่ครบเครื่องแบบนี้คงยาก

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.25
เสียง (Sound)
8.50
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.50
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.50

คะแนน Elac AM150 Studio Active Speakers

8.5

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– โครงสร้างบึกบีน มั่นคง ภายใต้รูปแบบลำโพงแอ็คทีฟ วางขาตั้ง กับขนาดที่ไม่เล็ก แต่ก็ไม่ใหญ่จนเกินไป แยกภาคขยาย-ภาคจ่ายไฟอิสระสำหรับลำโพงแต่ละข้าง กั้นส่วนตัวตู้ด้านในแยกสำหรับติดตั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ผิวตัวตู้กึ่งเงากึ่งด้านให้ความทนทานสมบุกสมบันกว่า  
–  AM 150 ยังเป็นลำโพงแนวเสียงแบบขวัญใจมหาชน กล่าวคือ ยังประนีประนอมเอาใจหูอยู่ ทว่าอีกด้านหนึ่งก็มีศักยภาพสามารถปรับจูนดุลเสียงให้มีลักษณะการถ่ายทอด “เที่ยงตรง” ดังเช่นลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดีได้ ความสามารถแบบ 2 in 1 เช่นนี้ จึงเป็นคุณสมบัติที่ไม่สามารถหาได้จากซิสเต็มเครื่องเสียง+ลำโพงทั่วไป
– ลำโพงกับภาคขยายในตัวพร้อมใช้งาน นอกจากรับสัญญาณเสียงแบบอะนาล็อกหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Balanced/Unbalanced แล้ว ยังติดตั้ง DAC ไว้ในตัว จึงรับสัญญาณดิจิทัลออดิโอได้โดยตรงผ่าน Coaxial และ AES/EBU Input (PCM up to 16-bit/48kHz) นอกจากนี้ยังสามารถปรับจูนในส่วนของฟังก์ชั่นชดเชยลักษณะผลกระทบของสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดในการติดตั้ง เพื่อให้ลำโพงสามารถถ่ายทอดดุลเสียงเที่ยงตรงได้อย่างยืดหยุ่น 
– ช่องต่อระดับโปรเฟสชันนัลครบครัน มีทั้ง Analog Input แบบ Balance (XLR & TRS) และ Unbalance (RCA) และยังรับ Digital Input ทั้งแบบ AES/EBU และ S/PDIF (Coaxial) ได้อีกด้วย (นี่ถ้ารับสัญญาณทาง USB Input ได้ด้วย คงจะไร้เทียมทานไปเลย) ช่องต่อสายไฟเอซีแบบ IEC เสียบได้มั่นคง ถอดเปลี่ยนอัพเกรดสายไฟได้
– การใช้งานลำโพงแอ็คทีฟกับการรวมภาคขยายไว้ในลำโพง อาจดูแปลกไปจากธรรมเนียมชุดเครื่องเสียงบ้านอยู่บ้าง ซึ่ง “นักเล่นเครื่องเสียง” ที่ชอบเปลี่ยนลำโพง เปลี่ยนแอมป์อยู่เรื่อยๆ อาจไม่ถูกจริต แต่หากท่านกำลังมองหาชุดเครื่องเสียงเพื่อ “ใช้งาน” และ “ใช้นาน” กับคุณภาพเสียงเมื่อเทียบกับงบประมาณแล้วน่าทึ่ง นี่จะเป็นอีกหนึ่งซิสเต็ม (ลำโพง+แอมป์) ที่คุ้มค่ามาก!!

by ชานม !
2013-11

ราคา Elac AM 150
ราคาพิเศษ 19,900 บาท (ต่อคู่)
(จากราคาเต็ม 39,000)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
บริษัท ยูโรวิชั่น จำกัด
โทร. 0-2969-3751-3