ผู้เขียน หัวข้อ: ครม.รับทราบ ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรของไทย 2 ราย  (อ่าน 164 ครั้ง)

ออนไลน์ Jenny937

  • Hologram 3D TV member
  • ******
  • กระทู้: 17,271
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์


รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบ ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรของไทย 2 ราย ทำหน้าที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (5 ต.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการร่วมลงทุน (Venture Capital) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทย เพื่อสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะการร่วมทุนให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรหรือที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจแต่ขาดโอกาสในการเพิ่มทุนให้มีทุนในการดำเนินกิจการระยะแรกได้ โดยสัดส่วนร่วมทุนไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นหลังระดมทุน และกรณีโครงการร่วมลงทุนไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าการลงทุน ระยะเวลาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี และผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัท โดยจะให้มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยอิสระ ส่วน ธ.ก.ส.ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ จะต้องเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Startup) หรือระยะของการขยายธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร หรือ โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีศักยภาพ เป็นผู้ประกอบการที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจ กองทุนหมู่บ้าน ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้อง โดยงบประมาณที่ใช้ร่วมลงทุนจะใช้งบประมาณการดำเนินงานปกติของธ.ก.ส.

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้คัดเลือกผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 ราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนด้วยแล้ว ได้แก่ บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร โดยใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาดในลักษณะซื้อขายล่วงหน้า มูลค่ากิจการ ณ ต้นปี 2564 อยู่ที่ 135 ล้านบาท อันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ AAA รายได้หลักมาจากค่าปรับปรุงแพลตฟอร์มและค่าสมาชิกจากผู้ซื้อผลผลิตการเกษตรรายใหญ่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีแผนการปรับเปลี่ยนที่มาของรายได้ มาเป็นส่วนแบ่งยอดขายสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นผ่านระบบเพื่อจูงใจให้เกษตรกรใช้บริการแพลตฟอร์มในการขายผลผลิต โดยเสนอให้ ธ.ก.ส.ร่วมลงทุน 15 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.10 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน

ส่วนอีกบริษัทได้แก่ บริษัท อินฟิวส์ จำกัด ให้บริการแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ผู้ใช้งานหลักคือ ชาวนาที่ซื้อประกันภัยผลผลิต มูลค่ากิจการอยู่ที่ 35.74 ล้านบาท อันดับเครดิตระดับ AA เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการบันทึกแปลงที่ดินของเกษตรกรและสามารถแจ้งการประสบภัยเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีเอาประกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบประมาณ 4,000 คน รายได้หลักของบริษัทมาจากการสนับสนุนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีแผนจะขยายระบบวางแผนบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างครบวงจรเพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และสามารถวางแผนเพาะปลูกได้ดีขึ้น โดยบริษัทเสนอให้ ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนจำนวน 7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.58 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน