ผู้เขียน หัวข้อ: วอลล์สตรีทร่วงวันนี้ ดาวโจนส์-S&P 500-Nasdaq กอดคอดิ่ง Q1 ครั้งแรกรอบ 2 ปี  (อ่าน 68 ครั้ง)

ออฟไลน์ Joe524

  • Hologram 3D TV member
  • ******
  • กระทู้: 16,689
    • ดูรายละเอียด
วอลล์สตรีทร่วงวันนี้ ดาวโจนส์-S&P 500-Nasdaq กอดคอดิ่ง Q1 ครั้งแรกรอบ 2 ปี

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ ซึ่งเป็นการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนมี.ค. และวันสุดท้ายของไตรมาสแรกของปีนี้

ณ เวลา 21.22 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,015.48 จุด ลบ 213.33 จุด หรือ 0.61%

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค. ส่งผลให้ดาวโจนส์มีแนวโน้มดีดตัวเกือบ 4% ในเดือนนี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq พุ่งขึ้น 5%

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐในไตรมาส 1/65 พบว่า ดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 มีแนวโน้มดิ่งลง 3% ขณะที่ Nasdaq ทรุดตัวลงกว่า 7% ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกของดัชนีทั้ง 3 ในไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นโควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2526 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุก่อนหน้านี้ว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในวันนี้ยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนกลับมากังวลต่อสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายประสบความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพ

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐไม่มั่นใจในคำมั่นสัญญาของรัสเซียที่ว่าจะลดปฏิบัติการทางทหารรอบกรุงเคียฟและเมืองเชอร์นิฮิฟ โดยนายเคอร์บีมองว่า การที่รัสเซียถอนกำลังทหารบางส่วนจากกรุงเคียฟนั้นเป็นการ "กลับมาตั้งหลัก" ไม่ใช่การถอนทหารอย่างแท้จริง พร้อมกับแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้กำลังทหารโจมตีครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของยูเครน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 195,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 35,000 ราย สู่ระดับ 1.31 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5%

การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนอัตราการออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 6.3% สู่ระดับ 1.15 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.