ผู้เขียน หัวข้อ: ดูแลสุขภาพ: ปวดหัวตรงไหน บอกอะไร (What your headache locations tells you)  (อ่าน 64 ครั้ง)

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Edge LED TV member
  • ***
  • กระทู้: 429
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์
อาการปวดหัว (Headaches) เกิดจากโครงสร้างภายในศีรษะที่ไวต่อการรับรู้ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยที่ทำให้รู้สึกปวดหัว โดยมีสาเหตุจากการทำงานที่ผิดปกติภายในศีรษะ เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของโครงสร้างภายใน


ปวดหัวตรงไหน บอกอะไร (What your headache locations tells you)

อาการปวดหัว (Headaches) เกิดจากโครงสร้างภายในศีรษะที่ไวต่อการรับรู้ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยที่ทำให้รู้สึกปวดหัว โดยมีสาเหตุจากการทำงานที่ผิดปกติภายในศีรษะ เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของโครงสร้างภายในหรือภายนอกกะโหลกศีรษะ อาการปวดหัวเกิดจากหลากหลายปัจจัย โดยตำแหน่งของอาการปวดหัวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดหัวชนิดต่าง ๆ และเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งเพื่อให้สามารถรับมือกับความเจ็บปวด และเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อใดควรไปพบแพทย์


อาการปวดหัวและตำแหน่งที่พบได้บ่อย มีกี่ประเภท?

อาการปวดหัวและตำแหน่งที่พบบ่อย ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้าย หรือความผิดปกติภายในโครงสร้างของศีรษะ มีดังต่อไปนี้
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type headache)

ปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type headache) เป็นอาการปวดหัวทั้งสองข้างของศีรษะ หรือปวดรัดรอบศีรษะโดยมีสาเหตุจากความเครียด ความวิตกกังวล ความเหนื่อยล้า การอดนอน หรือความโกรธจนนำไปสู่อาการปวดหัว อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว เป็นอาการปวดหัวประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มักมีอาการปวดหัวระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง โดยมักเริ่มมีอาการปวดแบบปวดบีบหรือปวดแน่นรอบศีรษะ หรือปวดที่บริเวณหน้าผาก ขมับ และหลังศีรษะร้าวไปที่คอ

โดยทั่วไป ผู้ที่มีอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ก้มตัว เดินขึ้น-ลงบันได หรือนอนราบ โดยระยะเวลาในการปวดจะมีอาการตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไปจนถึงปวดต่อเนื่องนานหลายวัน และอาจมีอาการปวดหัวแบบไมเกรนร่วมด้วย อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปจากร้านขายยาโดยเภสัชกร


ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache)

ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache) มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดร้าวไปที่กระบอกตา หน้าผาก ขมับถึงท้ายทอย โดยมีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองหรือการทำงานของหลอดเลือด กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนในเพศหญิงโดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อน อาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูด ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดเลือด การอดอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการปวดหัวไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อตึงตัว โดยเฉพาะในเพศหญิงที่พบได้บ่อยกว่าเพศชาย ผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนมักมีอาการปวดหัวระดับปานกลางจนถึงรุนแรง โดยมีอาการปวดหัวข้างเดียวแบบตุบๆ ตามจังหวะชีพจร อาจมีอาการไวต่อแสงหรือเสียงที่ทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

โดยทั่วไป ปวดหัวไมเกรนจะมีระยะเวลาการปวดตั้งแต่ 4 ชั่วโมงจนถึง 3 วัน อาการปวดหัวไมเกรนแบบไม่รุนแรงสามารถบรรเทาได้ด้วยยาตามใบสั่งแพทย์ หรือการบำบัดกับผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาล โดยการฝึกการควบคุมร่างกายเพื่อสร้างสมดุล (Biofeedback) การฝังเข็ม หรือแม้กระทั่งการฉีดโบท็อกซ์



ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster headache)

ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster headache) เป็นอาการปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรง หรือปวดที่บริเวณกระบอกตาร้าวไปจนถึงขมับ มีอาการปวดหัวแปล๊บๆ หรือหัวปวดตุบๆ เป็นชุด ๆ จนรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย บางรายปวดมากจนน้ำตาไหล น้ำมูกไหล เหงื่อออก หนังตาตก หรือรูม่านตาหดร่วมด้วย อาการปวดหัวคลัสเตอร์เป็นการปวดหัวที่รุนแรงกว่าอาการปวดหัวไมเกรน และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

อาการปวดหัวคลัสเตอร์มีสาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในสมอง หรือความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทของสมองคู่ที่ 5 รวมถึงเส้นเลือดบริเวณโดยรอบ ส่งผลให้มีอาการปวดหัวเป็นชุด ๆ 1 - 3 ครั้งต่อวันนาน 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนอาการปวดจึงหายไป อาการปวดหัวคลัสเตอร์สามารถบรรเทาได้ด้วยยาตามใบสั่งแพทย์ และการให้ออกซิเจนที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัว


ปวดหัวไซนัส (Sinus headache)

ปวดหัวไซนัส (Sinus headache) เป็นอาการปวดทั่วทั้งใบหน้าตามบริเวณโพรงไซนัส เช่น กระบอกตา โหนกแก้ม หน้าผาก ดั้งจมูก มีอาการคัดจมูก มีเสมหะ น้ำมูกไหล เป็นไข้ หรือใบหน้าบวม โดยจะรู้สึกปวดอย่างชัดเจนเมื่อก้มศีรษะ หรือก้มตัว

อาการปวดหัวไซนัส จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ต้นเหตุเพื่อบรรเทาอาการปวด หากสาเหตุของอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในโพรงไซนัส แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา หากอาการปวดไซนัสมีที่มาจากโรคภูมิแพ้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้แพ้ที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ หรือหากอาการปวดไซนัสเกิดจากการเป็นไข้หวัด แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดน้ำมูกเพื่อช่วยลดอาการบวมของไซนัส


ปวดหัวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (Hormonal headaches)

ปวดหัวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (Hormonal headaches) เป็นอาการปวดหัวข้างเดียว ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ ช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน นอกจากนี้ การอดนอน ความเครียด รวมถึงผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดหรือการบำบัดทดแทนฮอร์โมนก็อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายได้เช่นกัน โดยจะมีอาการปวดหัวตุบ ๆ เป็นจังหวะ และมีอาการร่วม เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยล้า เป็นสิว และจะมีอาการปวดหัวเพิ่มมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสง สี เสียงคล้ายอาการปวดหัวไมเกรน

อาการปวดหัวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สามารถบรรเทาได้ด้วยยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยควรเริ่มใช้ 2-3 วันก่อนมีประจำเดือนและควรใช้ยาไปตลอดรอบประจำเดือน ทั้งนี้ยาตามใบสั่งแพทย์ เช่น triptans สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้เช่นกัน


ปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration headaches)

ปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration headaches) เป็นอาการปวดหัวทั่วศีรษะ โดยมีสาเหตุจากภาวะร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือท้องเสียอย่างรุนแรง อาการปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำมีหลายระดับตั้งแต่อาการปวดหัวเล็กน้อยไปจนถึงปวดหัวรุนแรง มีอาการปวดหัวแบบตื้อ ๆ หรือปวดหัวแบบจี๊ด ๆ ไปทั่วศีรษะ อาจปวดที่ตำแหน่งเดียว เช่น ปวดหัวด้านหลัง ปวดหัวด้านหน้า หรือปวดหัวด้านข้าง และมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะสีเข้ม มองเห็นภาพเบลอ และมีอาการเหน็บชาตามร่างกาย

อาการปวดหัวจากภาวะร่างกายขาดน้ำสามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำเปล่า การจิบผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส (ORS-Oral rehydration salt) การพักผ่อน การประคบเย็นบนศีรษะ และอาจบรรเทาอาการด้วยกลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยการแนะนำของเภสัชกร


ปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (New daily persistent headaches: NDPH)

ปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (New daily persistent headaches: NDPH) เป็นอาการปวดหัวทั่วศีรษะแบบไม่ระบุตำแหน่งอย่างกระทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดหัวในระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลางต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน อาการปวดหัวต่อเนื่องทุกวัน (NDPH) มีอาการคล้ายอาการปวดหัวไมเกรน โดยอาจมีสาเหตุเกิดจากการอักเสบภายในโครงสร้างบริเวณรอบศีรษะ การติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดที่จำเป็นต้องได้การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เพื่อแยกโรค มีรายงานการพบผู้ที่มีอาการปวดหัวต่อเนื่องรายวันแบบใหม่ (NDPH) เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือผู้ที่มีภาวะลองโควิด (Long COVID) หลังจากที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด 19


ปวดหัวเรื้อรังไม่หาย สัญญาณอันตราย ที่ควรรับการตรวจ

อาการปวดหัวส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง การระบุตำแหน่งและประเภทของอาการปวดหัวเป็นกุญแจสำคัญที่จะไปสู่การรักษา
อาการปวดหัวได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ

แม้อาการปวดหัวส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด แต่หากอาการปวดหัวทวีความรุนแรงมากขึ้น ปวดหัวหลังจากที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ มีอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันรุนแรงและมีอาการร่วม เช่น เป็นไข้ไม่หายขาด มีอาการคอแข็งเกร็ง เหน็บชาหรือไร้ความรู้สึก รู้สึกสับสน พูดลำบาก หรือมองเห็นภาพเบลอ ควรรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านประสาทวิทยาเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหัวโดยละเอียดและรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้อาการปวดหัวหายขาด หรือเพื่อช่วยให้อาการปวดหัวทุเลาเบาคลาย และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้


ดูแลสุขภาพ: ปวดหัวตรงไหน บอกอะไร (What your headache locations tells you) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 05, 2023, 12:39:19 am โดย siritidaphon »